ต้นทุนการออกแบบ


บทความจาก http://www.facebook.com/fifdesignstudio 



          บทความนี้เป็นเรื่องต่อเนื่องที่ทางกองบก. Idesign คุยกับผมเมื่อตอนที่เราไปทำโครงการเดินสายโครงการพัฒนานักออกแบบในภูมิภาค ต่างๆ เมื่อสองสามเดือนที่ผ่านมาเป็นโครงการของกระทรวงอุตสาหกรรม บริหารโดย industrial design network เดิมทีเดียวเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องที่ผมก็คิดว่าไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ แปลกใหม่อะไร แต่เท่าที่ไปบรรยายมาหลายๆ ภูมิภาค น่าตกใจทีเดียวที่นักออกแบบรุ่นใหม่หรือรุ่นเก่าหลายๆ ท่าน “ไม่มีหลักเกณฑ์ในการคิดราคาค่าออกแบบ” โดยส่วนมากจะคิดตามใจนึก คือนึกว่าเท่านี้น่าจะพอดีก็โอเครับงาน หรือผู้ว่าจ้างกำหนดมาให้เลยโดยที่ไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้มากไปกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นทางใดก็ตามที่ไม่ได้มีหลักในการคิดราคาที่เหมาะสม ผลก็คือเราจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าที่เราทำงานอยู่นี้ กำไรหรือขาดทุน ปีนี้เราต้องรับงานกี่ชิ้น มูลค่าเท่าไหร่ หรือเมื่อเกิดการต่อรอง การจะลดราคาให้ลูกค้านั้น ต้องลดจำนวนงานลงด้วยหรือไม่ อย่างไร เหล่านี้เป็นผลให้การพัฒนาธุรกิจด้านการออกแบบนั้นเป็นไปอย่างไม่แน่นอน ทำให้นักออกแบบอิสระ (freelance) หลายๆ รายเมื่อทำงานไปซักพักแม้จะมีงานให้ทำแต่เงินไม่พอใช้จ่าย หรือขากสภาพคล่องและก็จะทำให้รู้สึกเหนื่อย และเป็นผลให้เปลี่ยนอาชีพในที่สุด ส่งผลให้บริมาณนักออกแบบที่มีประสบการณ์ในบ้านเรานั้นไม่เพิ่มจำนวนเท่าที่ ควรกับความต้องการของผู้ประกอบการ ไม่น่าเชื่อนะครับว่าเรื่องไม่น่าจะเป็นเรื่อง กลับเป็นเรื่องสำคัญต่อวงการออกแบบ เพราะฉะนั้นผมจึงถูกขอให้เขียนเผยแพร่เรื่องนี้อีกครั้งหลังจากเดินสาย บรรยายตามภูมิภาคต่างๆ เสร็จสิ้น



          ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนนะครับว่า ผมไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์หรือนักบัญชี ผมจบ industrial design ครับ เพราะฉะนั้นหลักการที่ผมเขียนนี้อาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด หรือถูกต้อง 100% ตามตำรา แต่ทั้งหมดนี้ล้วนเกิดมาจากประสบการณ์สิบกว่าปีที่ก่อตั้งบริษัทออกแบบมา การปรึกษากับนักบัญชี หนังสือหลายต่อหลายเล่ม และแน่นอนที่สุดคือการลองผิดลองถูกเพื่อหาหลักการที่สามารถปฎิบัติได้ง่าย เข้าใจง่าย เอาหละเข้าเรื่องกันดีกว่า

          ทำความเข้ากันก่อนนะครับว่า อาชีพนักออกแบบนั้นจริงๆ แล้วนั้นดูจะเหมือนเป็นการขายบริการมากกว่าการขายสินค้า เราขายความคิด เราขายกระบวนการการออกแบบที่จะผลิตแนวคิด และเอกสารกำกับแบบต่างๆ ถ้าลองมองอาชีพที่ใกล้เคียงในคณะเดียวกันก็อาจจะเป็นสถาปนิกและมัณฑณากรที่ น่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีของการคิดราคาให้เราได้ แต่ทั้งสองอาชีพนั้นคิดค่าวิชาชีพเป็นสัดส่วน (%) ต่อค่าก่อสร้าง ซึ่งการก่อสร้างหรือตบแต่งบ้านหรืออาคารนั้นมีวัสดุและวิธีการผลิตที่ไม่แตก ต่างกันมากนักเพราะฉะนั้นตัวเปอร์เซ็นต์นั้นจึงเป็นค่าเฉลี่ยที่ยอมรับได้ สถาปนิกประมาณ (7-10%) มัณฑณากรประมาณ (10-15%) แต่การออกแบบนั้นงานที่ออกแบบมีความหลากหลาย ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ สิ่งพิมพ์ เครื่องหมายการค้า ฯลฯ และการออกแบบผลิตภัณฑ์นั้นก็มีความหลากหลายของวัสดุและกระบวนการผลิตและการ ลงทุน อย่างที่เรียกได้ว่ายากนักที่จะกำหนดตัวเลขเปอร์เซนต์หรือว่าตัวที่จะเอาไป คูณนั้นควรเป็นอะไร เงินลงทุน กำไร ราคาทุนของสินค้า หรือราคาขายของสินค้า จึงทำให้การกำหนดแบบเปอร์เช็นต์นั้นไม่สามารถวางหลักเกณฑ์ที่แน่นอนได้ เพราะฉะนั้นนักออกแบบที่อยากจะรับค่าออกแบบที่เป็น royalty fee กลายเป็นว่าต้องแล้วแต่ความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย โดยถือเอาค่าออกแบบทั้งหมดที่นักออกแบบคนนั้นทำงาน มาเฉลี่ยโดยบวกค่าความเสี่ยงเพิ่มขึ้นไปเหมือนการคิดว่าเงินค่าออกแบบนั้น เป็นเงินลงทุนที่นักออกแบบคนนั้นลงทุนร่วมกับผู้ประกอบการแล้วก็มาตกลง สัดส่วนของกำไรที่เหมาะสมกันตามแต่เห็นควร
          เพราะฉะนั้นก็จะกลับมาที่ การคำนวณต้นทุนของงานออกแบบที่เราทำงานลงไปเป้นสำคัญ งั้นลองมาดูกันว่าโครงสร้างของการคิดราคาค่าออกแบบนั้นมีอะไรเกี่ยวข้องบ้าง แน่นอนราคาขายของสินค้าหรือบริการใดๆ ก็จะมีสัดส่วนหลักอยู่สองส่วนคือ ต้นทุน และกำไร ง่ายมั๊ยครับ ใช่ครับง่ายๆ อย่างนี้แหละ ส่วนที่ยากที่ทำให้เราคิดราคาไม่ได้ตรงกับความเป็นจริงซะทีก็คือ “ต้นทุน” ต้นทุนของงานออกแบบคืออะไร? นักออกแบบนั้นขายสมอง ขายความคิดที่เราลงไปในหนึ่งหน่วยเวลา เพราะฉะนั้นจะเริ่มแยกออกได้สองส่วนคือ
1. ต้นทุนที่ทำให้เกิดความคิด
2. เวลา
          ต้นทุนที่ทำให้เกิดความคิดคืออะไร เราแบ่งต้นทุนที่ทำให้เกิดความคิดเป็นสองส่วนด้วยกันคือ           ต้นทุนคงที่ และต้นทุนผันแปร โอยๆ ๆ อย่าเพิ่งงง อย่าเพิ่งผลิกไปไหน ไม่ยากอย่างที่คิดครับ ลองเข้าใจแบบที่ผมเข้าใจละกันนะครับเพราะอย่างบอกผมต้องการอะไรง่ายๆ ที่นำไปใช้ได้สะดวก

          ต้นทุนคงที่ (fix cost) คือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานออกแบบของเราที่เราได้จ่ายไปแล้ว หรือจะต้องจ่ายต่อไปโดยที่ “ไม่ว่าเราจะมีงานหรือไม่มีงานทำก็ตาม เราก็ต้องจ่ายออกไป” แต่ละคน แต่ละองค์กรอาจจะมีต้นทุนคงที่ที่แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่น ค่าเช่าสำนักงาน เงินเดือนพนักงาน ค่าหนังสือ ค่าศึกษาดูงาน ค่าการศึกษาด้านวิชาชีพที่เราเรียนมา ค่าเสื่อมของอุปกรณ์ต่างๆ เป็นต้น ขอพูดรายละเอียดเรื่องค่าเสื่อมราคานิดนึงนะครับในทางบัญชีนั้นเค้าจะมี ตัวเลขกำหนดมาว่า ทรัพย์สินใดๆ ขององค์กรนั้นจะสามารถนำมาคิดเป็นต้นทุนได้ปีละเท่าไหร่ของมูลค่าเต็มของ ทรัพสินนั้น แต่ในทางการคิดต้นทุนเพื่อเสนอราคานั้นบางที่ทรัพย์สินในการทำงานออกแบบนั้น มันหมดค่าเร็วกว่าที่ทางบัญชีกำหนดไว้ เช่นคอมพิวเตอร์ในการทำงานออกแบบนั้นต้องใช้เครื่องที่ทันสมัยเพื่อใช้กับ ซอฟแวร์ใหม่ๆ ในการออกแบบเพื่อให้งานออกแบบของเรานั้นพัฒนาให้ทัดเทียมผู้อื่น ซึ่งอาจจะสองปีก็ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนแล้ว หรือการตบแต่งสำนักงานอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยเพื่อสร้างแรงบรรดาลใจ เป็นต้น เพราะฉะนั้นเพื่อความแม่นยำผมมักจะคิดค่าเสื่อมราคาตามจริงโดยประเมินว่า ทรัพย์สินนั้นเราจะใช้กี่ปีแล้วก็หารตามนั้นมาคำนวณเป็นความเสื่อมราคาต่อปี และต้นทุนคงที่ต่อปีทั้งหมดนี้เอง ที่เราจะสามารถคำนวณออกมาเพื่อหาต้นทุนคงที่ต่อชั่วโมง (man hour) ของเราได้

          ต้นทุนผันแปร (variable cost) คือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานออกแบบของเราที่เราต้องจ่ายออกไป “เมื่อมีงานเท่านั้น” เช่น ค่ากระดาษ ค่าหมึกพิมพ์ ค่าทำต้นแบบ ค่าเดินทาง ค่าโทรศัพท์ที่ใช้ติดต่องาน ค่าชื้อข้อมูล ค่าจ้างที่ปรึกษาเป็นต้น ซึ่งนักออกแบบควรจะรู้ต้นทุนของสิ่งของที่ใช้ในการทำงานออกแบบทุกอย่างให้ ชัดเจนนะครับ เช่นพิมพ์งาน A4 หนึ่งแผ่นนั้นเป็นเงินเท่าไหร่ A3 เป็นเงินเท่าไหร่เป็นต้น
          ทีนี้มาดูเรื่องเวลา เวลาที่เราใช้ซึ่งหมายถึงขั้นตอนที่เราใช้ในการทำงานออกแบบนั้นเอง และจุดนี้ก็เป็นจุดที่ทำให้คำนวณราคาผิดพลาดได้มาก เพราะการเสนอราคางานออกแบบนั้นต้องเสนอก่อนถึงจะเริ่มทำงาน เพราะฉะนั้นเราต้องสามารถประเมินได้อย่างแม่นยำว่า งานออกแบบนี้นั้น ต้องมีขั้นตอนอะไรบ้างและแต่ละขั้นตอนต้องใช้เวลาเท่าไหร่ ซึ่งการประเมินนี้ก็ต้องแล้วแต่ประสบการณ์ แล้วแต่เป้าหมายของงาน แล้วแต่ลูกค้า ซึ่งไม่เท่ากันในแต่ละงาน และจุดนี้เองที่ทำให้ราคาค่าออกแบบมีความแตกต่างกันแม้จะเป็นงานเดียวกัน แต่เพราะใช้ขั้นตอนที่แตกต่างกัน วึ่งขั้นตอน วิธีการและกระบวนการออกแบบนี้เองที่จะเป็นตัวชี้วัดความเสี่ยงที่งานออกแบ บนั้นๆ จะประสบความสำเร็หรือไม่ เพราะกระบวนการออกกแบบที่ดีนั้น จะมีทั้งกระบวนการหาและวิเคราะห์ข้อมูลก่อนการออกแบบ กระบวนการระดมสมองเพื่อหาแนวคิดใหม่ๆ กระบวนการทดสอบ กระบวนการออกแบบรายละเอียด และจะมีรายละเอียดปลีกย่อยในแต่ละกระบวนการอีกมาก และทั้งหมดนั้นถูกออกแบบมาเพื่อหาแนวคิดที่ดีที่สุดและตรวจสอบเพื่อป้องกัน ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อแนวคิดนั้นออกสู่ตลาด นั้นหมายความว่าผู้ประกอบการที่ซื้อกระบวนการออกแบบที่ครบถ้วน ละเอียดก็มีแนวโน้วที่สูงกว่าที่สินค้าจะประสบความสำเร็จมากกกว่า การออกแบบโดยใช้ขั้นตอนสั้นๆ


เพื่อให้เป็นแนวทางในการคิดราคาผมขอ อนุญาตแนะนำกระบวนการออกแบบหลักๆ ที่จำเป็นต้องมีในงานออกแบบทุกๆ อย่างเพื่อให้พอเห็นภาพหลักๆ แต่แน่นอนที่รายละเอียดปลีกย่อยในแต่ละขั้นตอนคงไม่มีที่พอที่จะเขียนในที่ นี้ โดยหลักๆ งานออกแบบจะมีกลุ่มขั้นตอนหลักๆ อยู่ 5 ขั้นด้วยกันคือ
  1. การกำหนดขอบเขตและวัตถุประสงค์ของงานออกแบบ (research & pre-development)
  2. การสร้างและพัฒนาแนวคิด (concept development)
  3. การพัฒนาแบบและการออกแบบรายละเอียด (design development and design refinement)
  4. การทดสอบก่อนการผลิต (pre-production test)
  5. การดูแลงานผลิต (production supervision)
การกำหนดขอบเขตและวัตถุประสงค์ของงานออกแบบ (research & pre-development)  
ขั้นตอนนี้คือการหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องและกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนของสิ่งที่จะ ออกแบบ เพื่อวางเป้าหมายสำหรับขั้นตอนการพัฒนาและเพื่อใช้ในการตรวจสอบคุณภาพงาน ออกแบบ ซึ่งเป็นการวางแผนเชิงกลยุทธ์ว่าสิ่งที่จะออกแบบนั้นต้องมีอะไรบ้างและก่อ ให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งเราจะได้วัตถุประสงค์ของงานออกแบบนี้มาจาก การวางกลยุทธ่การออกแบบของสินค้าที่จะออกจำหน่ายนั้นเอง เพราะฉะนั้นกระบวนการในขั้นตอนนี้จะมีการทำการหาข้อมูล
          การวิเคราะห์ข้อมูลด้านผู้บริโภค เพื่อหาความต้องการ ความฝัน หรือความเป็นไปได้ใหม่ที่กลุ่มเป้าหมายน่าจะสนใจหรือต้องการ
          การวิเคราะห์ข้อมูลด้านการแข่งขันในตลาดเป้าหมาย การ หาข้อมูลภาพรวมของตลาด วิเคราะห์คู่แข่งต่างๆ ในตลาดเพื่อหาช่องว่างที่จะสามารถสร้างแนวคิดใหม่ๆ ลงไปได้และมีโอกาสสูงที่จะประสบความสำเร็จ โดนใจตลาด
          การวิเคราะห์ข้อมูลขององค์กรและตราสินค้า เพื่อ เข้าใจจุดอ่อนจุดแข็งศักยภาพด้านต่างๆ ของตัวเอง ทั้งด้านเทคโนโลยี การลงทุน และบุคลิกภาพขององค์กร และตราสินค้า เพื่อหาแนวคิดที่สอดคล้องปฎิบัติได้จริง เพราะแนวคิดที่ดีแค่ไหนก็ตามจะไม่เกิดถ้าองค์กรทำออกมาไม่ได้
          การสร้างและพัฒนาแนวคิด (concept development) จากเป้าหมายที่ชัดเจน ก็ต้องการแนวคิดที่จะสามารถจะนำไปสู่เป้าหมายนั้นได้ ซึ่งการจะได้มาซึ่งแนวคิดใหม่ๆ ที่ดีนั้นต้องการการระดมสมองเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลและสร้างสรรแนวคิดในหลายๆ มุม หลายๆ มิติ ยิ่งคิดเยอะโอกาสที่จะได้แนวคิดที่ดีก็จะสูงตาม สัดส่วนของการคิดสร้างสรรต่อแนวคิดดีๆ ที่นำมาใช้ได้นั้นอาจจะสูงถึง 100:1 นั้นคือ คิดไปร้อยแนวคิดได้แนวคิดที่ใช้ได้ดีประมาณ 10 แนวคิด และได้แนวคิดที่ยอดเยี่ยมหนึ่งเดียว เวลาและประสบการณ์ของนักออกแบบก็มีส่วน แต่จะเห็นได้ว่าในนักออกแบบคนเดียวกันนั้น เวลาที่ใช้ในขั้นตอนนี้มีผลโดยตรงต่อคุณภาพของแนวคิดที่ดี และรวมถึงเวลาที่ต้องใช้ในการทดสอบและประเมินผลแนวคิดนั้นๆ ด้วย
          การพัฒนาแบบและการออกแบบรายละเอียด (design development and design refinement) จากแนวคิดที่ได้ก็ต้องมาทำงานพัฒนารูปแบบที่สวยงาม เหมาะสมสอดคล้องกับตราสินค้า แตกต่างและโดนใจกลุ่มเป้าหมาย และพัฒนาในรายละเอียดต่างๆ เพื่อให้สามารถผลิตงานออกแบบนั้นได้อย่างมีคุณภาพ เขียนแบบและเอกสารเพื่อใช้ในการสื่อสารกับโรงงานผู้ผลิตให้เข้าใจในราย ละเอียดต่างๆ
          การทดสอบก่อนการผลิต (pre-production test) เพื่อตรวจสอบในด้านต่างๆ ก่อนที่สินค้าจะถูกส่งไปผลิตจริงนั้นต้องมีการทดสอบในด้านต่างๆ ของงานที่ออกแบบซะก่อนเช่น ทดสอบด้านการตลาด ทดสอบด้านการใช้งาน ทดสอบด้านกระบวนการผลิต โดยที่จะต้องมีการทำต้นแบบเสมือนจริงเพื่อมาใช้ในขั้นตอนการทดสอบต่างๆ ซึ่งระยะเวลา และประเภทของต้นแบบที่ใช้ในการทดสอบนั้นก็คงต้องขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของ แนวคิด การใช้งานและกระบวนการผลิต ขอย้ำว่าขั้นตอนนี้จำเป็นมากๆ และนักออกแบบจะต้องเข้าไปดูแลและวิเคราะห์หาจุดบกพร่องของงานออกแบบของเรา ให้ได้ เพือปรับปรุงให้ดีที่สุด
          การดูแลงานผลิต (production supervision) เมื่อแบบพร้อมที่จะส่งเข้าสู่กระบวนการผลิตแล้ว นักออกแบบต้องมีหน้าที่จะต้องดูแลช่วยแก้ปัญหา หากมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตซึ่งเกิดจากแบบที่ออกนั้น จนสามารถผลิตงานนั้นออกมาเป็นสินค้าได้สมบูรณ์ตามแบบที่ออกไว้ได้นั้นจึงจะ ถือว่าเสร็จสมบูรณ์ในงานที่ออกแบบ แต่ก็ยังต้องมีการติดตามผล ความสำเร็จว่าสามารถบรรลุเป้าหมายได้แค่ไหนเมื่อออกสู่ตลาด

          ขั้นตอนทั้งหมดนี้กว่าจะเสร็จสมบูรณ์ย่อมใช้เวลาไม่น้อยเลยใช่มั๊ยครับ เมื่อเราเอาเวลาทั้งหมดที่เราใช้ในการทำงานแต่ละขั้นตอน คูณกับต้นทุนต่อชั่วโมง (man hour) ของเราก็จะได้ต้นทุนที่เป็นค่าออกแบบ (ค่าแรง) และเมื่อรวมกับต้นทุนผันแปร (variable cost) ของงานๆ นั้นก็จะออกมาเป็นต้นทุนทั้งหมดของงานออกแบบงานนั้น แต่ก็ยังไม่ใช่ต้นทุนทั้งหมดที่จะใช้ในการคิดราคา ยังมีต้นทุนอีกตัวที่ส่วนใหญ่นักออกแบบอิสระจะไม่ค่อยนำมาคิดนั้นคือ “ค่าการตลาด” ก็ คือค้าใช้จ่ายที่เราต้องจ่ายออกไปเพื่อให้ได้งานมาทำ อันอาจจะหมายถึง ค่าโฆษณา ค่าพิมพ์นามบัตร โบรชัวร์ ค่าจัดทำ website ค่าจัดทำสื่อแนะนำตัว ค่าออกงานแสดงสินค้า และหรืออื่นๆ ใดตามแต่ๆ ละหน่วยงานจะวางแผน ซึ่งเราควรตั้งงบนี้เป็ยรายปี เพื่อให้ได้มีงบประมาณในการหาลูกค้าหางานใหม่ๆ เข้ามา โดยเมื่อกำหนดต่อปีแล้ว เราอาจจะหารเฉลี่ยเป็นต่องาน หรืออาจจะรวทคิดหารเป็นต่อชั่วโมงทำงานเพื่อเฉลี่ยต้นทุนนี้ลงไปในทุกๆ งานอย่างเหมาะสม
เมื่อได้ต้นทุนทั้งหมดแล้วก็ถึงเวลาคูณกำไร โดยทั่วไปในการธุรกิจปัจจุบันกำไร 15-25% ก็นับเป็นตัวเลขที่น่าพอใจทั้งนี้และทั้งนั้นคงขึ้นอยู่กับปัจจัยการแข่ง ขั้นที่แต่ละท่านเผชิญอยู่เป็นหลัก และอย่าลืมว่าเมื่อคูณกำไรแล้วตัวเลขนั้นคือตัวเลขหลังหักภาษีแล้ว เพราะฉะนั้นจะเสนอราคาขายได้ก็ต้องบวกภาษีต่างๆ เข้าไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีหัก ณ ที่จ่าย และภาษีนิติบุคคล (ในกรณีที่เป็นนิติบุคคล)
ดูเหมือนจะเรียบร้อยแล้วแต่การเสนอราคานั้น ยังมีปัจจัยที่ต้องพิจารณาเพื่อทำใบเสนอราคาให้มีโอกาสได้งานสูงขึ้นอาจจะ ต้องมีการปรับตัวเลขให้ลงตัวมากยิ่งขึ้นโดยปัจจัยที่ใช้ในการปรับก็จะมีเช่น

-       ความไวต่อราคาของลูกค้า เช่น 38,000 บาทกับ 40,500 บาท นั้นอาจจะรู้สึกว่าต่างกันมาก
-       ความมีเอกลักษณ์ คือกระบวนการและความสามารถขของเราแตกต่างจากคนอื่นมากแค่ไหน
-       สภาพการแข่ง และความตระหนักในสิ่งทดแทน ก็คือหากเรามีคู่แข่งที่ทำได้เหมือนๆ กับเราอาจจะต้องพิจารณาปรับราคาให้สามารถแข่งขันได้
-       ค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นในการซื้อ คืออาจจะมีการว่าจ้างเป็น ซีรี่ หรือหลายๆ งานพร้อมๆ กันก็อาจจะสามารถลดราคาลงได้
-       คุณประโยชน์ที่ผู้ว่าจ้างจะได้รับในบั้นปลาย หากเราสามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับผู้ว่าจ้างจากงานออกแบบของเราได้ เช่นสามารถช่วยลดต้นทุนได้มาก หรือเพิ่มยอดขายได้มาก ก็อาจจะสามารถปรับราคาค่าออกแบบขึ้นได้ตามเหมาะสม

          เมื่อเราคิดราคา อย่างมีหลักการและเหตุผลอย่างนี้แล้ว เราก็จะสามารถทราบได้ว่างานที่เราทำอยู่นั้นมีกำไรเท่าไหร่ และหากมีการผิดพลาดต้องแก้ไข เราจะเริ่มขาดทุนเมื่อไหร่ หรือเมื่อเกิดการต่อรองราคาเราจะสามารถทราบได้ทันทีว่าเราจะสามารถลดราคาได้ แค่ไหนถึงจะไม่กระทบคุณภาพของงาน และหากต้องการลดราคาลงมากกว่านั้นอีกก็จะสามารถตกลงได้ว่า จะตัดลดขั้นตอนไหนออก และก็จะเป็นที่เข้าใจกันว่าคุณภาพของงานออกแบบจะต้องลดน้อยลงตามไปด้วยตาม ขั้นตอน ผู้ว่าจ้างจะได้ไม่คาดหวังสูง เกินไปหลังจากตกลงราคาที่ต่อรองกันแล้ว ทุกกระบวนการจะโปร่งใสและจับต้องได้ ทำให้การทำงานนั้นเป็นที่พึงพอใจทั้งฝ่ายผู้ว่าจ้างและนักออกแบบ



Previous Post Next Post

Contact Form