กับคำพูดที่ว่า "งานมันพรีเซนท์ตัวของมันเอง’

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เขียนค้างไว้นานมาก จนวันนึงที่อยากจะ clear note ที่ค้างไว้ ก็เลยมาเปิดเจอ เลยกลับมาเขียนต่อให้จบ

---


มันมีคำพูดนึงที่ผมยึดมาตลอดอาชีพออกแบบ คุ้นๆว่าอาจารย์ในตอนเรียนป.ตรีจะเป็นคนพูด จากนั้นก็ได้ยินมาเรื่อยๆ ในชีวิตการทำงาน

‘ไม่จำเป็นต้องพรีเซนท์ให้ฟังหรอก งานมันพรีเซนท์ตัวของมันเอง’

ตอนนั้นผมชอบมาก คำพูดนี้อธิบายหลายๆ ในชีวิตการทำงาน ด้วยความที่เราเติบโตมาจากงานที่ต้องใช้ฝีมือ ที่ต้องใช้เวลาฝึกฝนจนชำนาญ ต้องมีชั่วโมงการทำงานต่อเนื่องที่สูง เรามองแว๊บเดียวเรารู้เลยจริงว่างานนี้ ตั้งใจทำมา งานนี้อาจจะcopyมา งานนี้ตัดแเปะ หรืองานนี้เขี่ยมาส่งๆ งานมันบอกเรื่องราวของมันเองว่ามันถูกใส่ความพยายาม ชั่วโมงบิน และความชำนาญของคนสร้างมันมากเท่าไร



ผมคิดต่อไปถึงตัวเองตอนมีโอกาสดูงานศิลปะชั้นครูของจริงที่ตามหอศิลป์ต่างประเทศ ทำไมผลเห็น American Gothic 1930 ของ Grant Wood แล้วผมตื่นเต้น กว่าภาพอื่นๆ ทำไมผมเห็น A Sunday Afternoon on the Island of La Grande Jatte, 1884–1886 ของ Georges Seurat แล้วผมรู้สึกมีความสุขมากๆ อยากจะมาเขียนเล่าประสบการณ์ หรือทำไมผมต้องพยายามแทบตายเพื่อหาทางไปดูงานจริง The Kiss by Gustav Klimt, 1907/1908 ที่สุดท้ายก็ไปไม่ถึง

กลับมาคิดจริงๆผมไม่ได้ไปดูงานเหล่านั้น Present ตัวเองหรอก แต่ผมไปดูเพราะว่ามันมีเรื่องราว มันมีคนเคยมาพรีเซนท์ให้ฟังตอนเรียนต่างหากว่า ผลงานเหล่านี้มันระดับ Legendary ที่มีเงินก็อาจจะซื้อไม่ได้ และเรื่องราวที่ถูกเล่าเหล่านั้นทำให้ผมรู้จักผลงานชั้นครูแบบนี้



American Gothic 1930 ของ Grant Wood

A Sunday Afternoon on the Island of La Grande Jatte

The Kiss by Gustav Klimt



หลังเริ่มสั่งสมประสบการณ์ ในการทำงานในสายงานที่หลากหลาย และผ่านการพูดเสนองานกับลูกค้าหรือแม้กระทั่ง Lead ในบริษัท มันทำให้ผมกลับไม่ได้อยากมองที่แค่ตัวผลงานสักเท่าไร มันมีอะไรมากกว่านั้น
เราอยากฟังเรื่องราวที่แต่ละคนเจอมามากว่า เรื่องราวของการสร้างสรรค์ การแก้ปัญหา ว่าเค้ามีกระบวนการอะไรบ้าง เค้าคิดอะไร เค้าเริ่มยังไง และเค้ามีความท้าทายอะไรที่ต้องเผชิญบ้าง ผลงานหรือรูปอาจจะเป็นแค่สิ่งยืนยัน หรือตัวประกอบว่าเรื่องราวที่พูดมาเหล่านั้นเป็นเรื่องจริงเท่านั้น

คำว่า “งานมันพรีเซนต์ตัวของมันเอง” เป็นคำพูดที่ดูหนักแน่นและเปี่ยมด้วยศรัทธาในฝีมือ ซึ่งผมเองก็เคยเชื่อแบบนั้นเหมือนกัน—จนวันหนึ่งเริ่มมองเห็นว่า ความหมายของ “ผลงาน” ไม่ได้อยู่แค่ในสิ่งที่เห็นด้วยตาเปล่า แต่มันอยู่ใน “เรื่องเล่า” และ “บริบท” ที่รายล้อมมันต่างหาก

มันมีอีกคำที่ผมชอบใช้มากคือ Focus on outcome over output

Output = What you produce (e.g., number of designs, lines of code, features built)
Outcome = What impact those things create (e.g., better user experience, increased sales, happier customers)



ใช่ครับ งานดีไซน์หรือศิลปะบางชิ้น เราแค่มองแว้บเดียวก็รู้ว่ามันทำมาด้วยความตั้งใจแค่ไหน แต่ในโลกจริง มันไม่ใช่ทุกคนที่จะอ่านชั้นเชิงเหล่านั้นออก บางคนเห็นแค่ภาพ บางคนดูแค่ฟอร์ม บางคนตัดสินแค่จากความสวยงามภายนอก เพราะฉะนั้น ถ้าเราอยากให้คน “เข้าใจ” ไม่ใช่แค่ “มองเห็น” เราจำเป็นต้องเล่า


ตัวอย่างแรก:
UI ที่เรียบมาก ๆ อย่างหน้าแรกของ Google Search—แทบไม่มีอะไรเลย แต่เบื้องหลังคือการทดลองนับไม่ถ้วน ทุกองค์ประกอบถูกวัดผลและออกแบบจากพฤติกรรมคนจริง ๆ ถ้าไม่มีใครมาเล่า เราอาจคิดว่า "ก็แค่กล่องค้นหา"



ตัวอย่างสอง:
โลโก้ Airbnb ดูเหมือนแค่เส้นโค้งรูปตัว A แต่จริง ๆ มันมีความหมายซ่อนอยู่ถึง 3 อย่าง—คน (People), สถานที่ (Places), และความรัก (Love) รวมกันกลายเป็นสัญลักษณ์ของการเชื่อมโยงมนุษย์กับพื้นที่ ถ้าไม่มีเรื่องเล่า งานนั้นอาจไม่มีพลังขนาดนี้




ในโลกของศิลปะ ก็มีตัวอย่างชัดเจนหลายคนที่ “งานไม่เคยพูดอะไรได้เลยในยุคของพวกเขา” จนกระทั่งมี “คนเล่าเรื่อง” ให้พวกเขา

Vincent van Gogh ขายงานได้ไม่กี่ชิ้นตอนมีชีวิต แต่ภรรยาของน้องชายเขา Johanna เป็นคนที่เชื่อในคุณค่าของงานเขา และใช้เวลาทั้งชีวิตจัดแสดง แปลจดหมาย และกระตุ้นให้โลกเห็นความลึกของเขา



Egon Schiele ก็เป็นอีกคนที่ตอนยังมีชีวิตถูกมองว่า “ลามก” มากกว่าศิลปิน เขาเสียชีวิตตอนอายุแค่ 28 แต่ปัจจุบันงานของเขากลายเป็นหนึ่งในตัวแทนของ emotional expression ที่รุนแรงและทรงพลังมากที่สุดในยุคศตวรรษที่ 20 เพราะนักประวัติศาสตร์ศิลป์และภัณฑารักษ์ช่วยกัน “เล่าใหม่” ให้คนเข้าใจมุมมองของเขาในอีกแง่มุม




Jean-Michel Basquiat ศิลปินผิวดำในนิวยอร์ก ยุค 80 ที่เคยถูกมองว่าเป็น street artist ธรรมดา แต่เมื่อเวลาผ่านไป มีคนเริ่มเล่าเรื่องบริบททางเชื้อชาติ การเมือง และความเป็น outsider ของเขา จนทำให้งานของเขากลายเป็นหนึ่งในสิ่งสะท้อนวัฒนธรรมอเมริกันที่เข้มข้นที่สุด



และที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ Frida Kahlo ที่ผลงานของเธอแทบจะถูกกลบโดยชื่อเสียงของสามีอย่าง Diego Rivera ตอนเธอมีชีวิต แต่เมื่อมีการเล่าเรื่องราวของเธอ—ความเจ็บปวด ความรัก ความเป็น feminst pioneer—โลกก็เริ่มมองเห็นว่า งานของเธอเต็มไปด้วยอารมณ์และตัวตนอย่างเหลือเชื่อ จนกลายเป็น icon ของผู้หญิงทั่วโลก






มาถึงตรงนี้ผมหยุดคิด..............

ผมน่าจะเป็นขบถคนนึงที่น่าจะมีความคิดรุนแรง ถ้าตอนนั้นผมมีประสบการณ์พอ หรือมีความเจนโลก ผมอาจจะเถียง ‘ไม่ครับ อาจารย์ต้องฟังผม เพราะว่าผมคิดว่า……’

แต่มองอีกมุมนึงคือ เรื่องราวนั้นมันสอนให้ผมสุชุมขึ้นในความคิดและการแสดงออก มุมมองไม่เคยมีด้านเดียว และไม่มีถูกหรือผิด เพราะเราตัดสินความคิดอีกคนบนพื้นฐานของการแสดงออกของอีกคนไม่ได้ ถ้าผมทำแบบนั้นผมก็จะกัดลิ้นตัวเองเพราะเรื่องราวที่ผมเพิ่งเล่าออกไปที่ว่า ..... Focus on outcome over output


เพราะ Output คือ "เราทำอะไรออกมา" Outcome คือ "สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น หรือมันสร้าง Impact หรือทำให้คนหนึ่งคนเปลี่ยนไปยังไง


Post a Comment

You can share any idea here.......

Previous Post Next Post

Contact Form